วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น

ในการแก้ปัญหาและการพัฒนาท้องถิ่นจำเป็นต้องมีความรู้และปัญญา ตลอดจนมีคนที่มีความรู้และใช้ความรู้ได้ อันเป็นผลที่ได้มาจากอุดมศึกษา ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่น สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งถือกำเนิดขึ้นโดยมีปรัชญาหรือเป้าหมายเพื่อท้องถิ่น สถาบันเหล่านี้จึงมีพันธกิจในการสนองความจำเป็นของท้องถิ่น บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในพันธกิจนี้มีหลายประการ ได้แก่

1. การเป็นแหล่งข้อมูลหรือแหล่งปัญญาของท้องถิ่น

สถาบันอุดมศึกษาสนองความจำเป็นของท้องถิ่นในการแก้ปัญหาและการพัฒนาด้วยการสะสมและจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่นที่ตนรับผิดชอบ ตลอดจนสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลให้กลายเป็นความรู้ และในที่สุดเป็นแหล่งปัญญาของท้องถิ่น หากเมื่อใดท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูล ความรู้ หรือปัญญา ก็สามารถหาหรือขอจากสถาบันการศึกษาได้

2. การสร้างสมความรู้

ในการที่จะเป็นแหล่งความรู้ สถาบันอุดมศึกษานั้นๆจะต้องขวนขวายหาและเก็บรวบรวมความรู้ที่จำเป็นไว้ การวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความรู้ ซึ่งมีทั้งความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องมีการวิจัยและจัดให้มีการวิจัยที่มุ่งที่ปัญหาของท้องถิ่น หรือการแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่น มีให้กระบวนการบริหารจัดการและแผนการวิจัยของสถาบันควรมีทิศทางและลักษณะเพื่อการนั้น

ความรู้ยังได้มาจากประสบการณ์ ซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่น สถาบันจึงจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับท้องถิ่นในอันที่จะได้รับเข้า และเปิดโอกาสให้ความรู้จากประสบการณ์ได้เข้าไปเป็นของสถาบัน รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้สะสมกันมานาน

การนำความรู้จากแหล่งภายนอกทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสมความรู้ เพื่อใหม่ความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ

3. การสร้างคน (นักวิชาการและนักวิชาชีพ)

การให้การศึกษาเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา บทบาทในท้องถิ่นเป็นการให้โอกาสนักเรียนในท้องถิ่นได้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่เท่านั้นยังไม่พอ สถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นควรจะสนองความจำเป็นด้านคนที่จะใช้งานในท้องถิ่นด้วย ซึ่งอาจเป็นการจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น ผู้ที่จบการศึกษาจะได้มีงานทำด้วย ไม่ใช่เป็นคนว่างงานหรือต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น การเปิดสาขาวิชาจึงมิใช่เนื่องจากการมีผู้สอนหรือนโยบายของสถาบัน แต่ควรมีการศึกษาหาความจำเป็นของท้องถิ่นและให้บุคคลในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเลือกและตัดสินใจ

รายละเอียดในหลักสูตรก็อาจต้องปรับให้ตรงกับความจำเป็นตามสภาพในท้องถิ่น การจัดหลักสูตรจึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นไปตามสาขาวิชาหรือตามประเพณีนิยม กลายเป็นการจัดหลักสูตรโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ความรู้ ทักษะ และเจตคติของบัณฑิตที่พึงประสงค์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของวิชาตามที่สถาบันหรือผู้สอนอาจกำหนด แต่อาจข้ามสาขาวิชาตามความจำเป็นที่คาดว่าจะเป็นเมื่อศึกษาสำเร็จออกไปทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นและใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นจุดเด่นของสถาบัน

นักศึกษาทุกคนทุกสาขาวิชาควรจะมีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นที่สถาบันตั้งอยู่จึงจะถือได้ว่าเป็นสถาบันเพื่อท้องถิ่น ยิ่งกว่านั้น นักศึกษาควรจะเกิดความรักและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน พร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อท้องถิ่น

4. บริการทางวิชาการ

การให้บริการทางวิชาการเป็นบทบาทที่สำคัญสำหรับสถาบันเพื่อท้องถิ่น หากสถาบันอุดมศึกษาใดจะอ้างตนเองว่าเป็นสถาบันเพื่อท้องถิ่น โดยเป็นแหล่งวิชาการ สถาบันนั้นจะดูดายไม่ได้เมื่อท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องใช้วิชาการ ในการนี้ สถาบันก็ต้องมีความรู้ที่จำเป็นนั้นหรือไปหาความรู้มาสนองแก่ท้องถิ่นได้ ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนจึงมีความสำคัญ เพราะมักจะต้องใช้ในการปรับความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมสำหรับใช้ในท้องถิ่นนั้นๆ ความเข้าใจในเรื่องความจำเป็นของท้องถิ่นและการมีเจตนารมณ์ที่จะตอบสนองเป็นปัจจัยที่จำเป็นเพื่อจัดบริการทางวิชาการให้เป็นไปเพื่อท้องถิ่น

การวางแผนและดำเนินการให้บริการทางวิชาการของสถาบันจึงมีความสำคัญ ต้องดำเนินการทั้งในเชิงรับเพื่อสนองการร้องของ และในเชิงรุกเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง การให้บริการทางวิชาการอาจดำเนินการโดยสถาบันเกิดรายได้พอสมควร แต่สถาบันต้องไม่ลืมหรือละเลยผู้ด้อยโอกาสที่สถาบันน่าจะมีส่วนช่วยเหลือได้

5. การชี้นำและเตือนสติสังคมในท้องถิ่น

แหล่งวิชาการมีบทบาทในการใช้ความรู้และวิสัยทัศน์สร้างความสามารถในการพิจารณาสภาพการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมีวิจารณญาณที่ดี หากมีสิ่งที่ควรชี้นำและเตือนสติสังคมก็ควรได้ทำหน้าที่ ทั้งนี้สถาบันอุดมศึกษาต้องสร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจของชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนมีความเป็นกลาง และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ โดยต้องยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง รวมทั้งไม่เป็นเครื่องมือของคนอื่น

บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการทำหน้าที่หน้าที่เพื่อท้องถิ่นดังได้กล่าวนี้มีมากและหลากหลาย แต่ละสถาบันอาจพิจารณาเลือกจุดเน้นของตน และอาจกำหนดความจำเป็นก่อนหลังได้ด้วยการวางนโยบายเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนงาน ตลอดจนการสร้างศักยภาพและสมรรถนะเพื่อนี้เป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการทำภารกิจนี้ (จรัส สุวรรณเวลา. 2551 : 207-211)

Reference :

จรัส สุวรรณเวลา. (2551). ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยไทย. กรุงเทพมหานคร : ส เจริญการพิมพ์